ประวัติโรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา
-
โรงเรียนประชาบาลตำบลแสนสุข ๓ (บ้านแสนสุข) พ.ศ. ๒๔๘๒ – ๒๔๙๖
โรงเรียนนี้เดิมชื่อ โรงเรียนประชาบาล ตำบลหนองมน ๓ (บ้านแสนสุขบน) เป็นโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งนายอำเภอตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา โดยสร้างเป็นโรงเรียนชั่วคราว ขนาด ๒ ห้อง กว้าง ๓ เมตร ยาว ๒๐ เมตร หลังคามุงจาก มีฝาจาก ๔ ด้าน สร้างด้วยเงินอุดหนุนการประถมศึกษาและประชาชนในท้องถิ่นสละเงินร่วมกัน โดยมีกำนันติ๊ว ยู่จิว และผู้ใหญ่อุ๊น จันทร์เกลี้ยง ช่วยกันจัดหาที่ดินและจัดสร้างขึ้นเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทำพิธีเปิดใช้สถานที่เล่าเรียนเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยมี นายพราว สุทธิศรี ศึกษาธิการอำเภอศรีราชามาเป็นประธานในพิธีเปิด มีนักเรียนทั้งสิ้น ๑๕ คน นายชิ้น ใจดี เป็นครูใหญ่ นับเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนนี้ ซึ่งทำหน้าที่ทั้งครูใหญ่ และครูประจำชั้น
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๖ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อตำบลหนองมนเป็นตำบลแสนสุข มาขึ้นกับอำเภอเมืองชลบุรี โรงเรียนจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนประชาบาลตำบลแสนสุข ๓ (บ้านแสนสุข)
-
โรงเรียน “พิบูลบำเพ็ญ” พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๔๙๙
พ.ศ. ๒๔๙๖ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เห็นควรปรับปรุงการศึกษาในท้องถิ่นให้กว้างขวางออกไป จึงมอบให้ พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการก่อสร้างขึ้นในตำบลแสนสุข บนเนื้อที่ ๗๕ ไร่ ๒ งาน ๑๓๑ ตารางวา เป็นเงินค่าซื้อจำนวนเงินทั้งสิ้น ๗๔๙,๐๐๐ บาท ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับโรงเรียนประชาบาลตำบลแสนสุข ๓ ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ มีอาคารเรียนชั้นมัธยมศึกษา อาคารเรียนชั้นประถมศึกษา โรงฝึกงานหัตถศึกษา บ้านพักครู คนงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๑๙๐,๐๐๐ บาท
นับเป็นโรงเรียนมัธยมสามัญศึกษา สำหรับการศึกษาในระยะ ๗ ปี เพื่อสนองแผนการ Primary Extension School และโรงเรียนจัดเป็นแบบ Consolidated School หลังจากวางศิลาฤกษ์แล้ว ๑ ปี นายกรัฐมนตรีได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้ชื่อว่าโรงเรียน “พิบูลบำเพ็ญ” ใช้เป็นสถานที่เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โดยมีผู้บริหารโรงเรียน ในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ คือ
หม่อมเจ้าพยัคฆพันธุ์ เกษมสันต์
อาจารย์พจน์ จันทร์ลี
-
โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๑๗
พ.ศ. ๒๔๙๙ กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเห็นเป็นการสมควรจะขยายการศึกษาในด้านฝึกหัดครูและด้านสามัญศึกษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงได้ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน และได้โอนโรงเรียน “พิบูลบำเพ็ญ” มาสังกัดวิทยาลัยวิชาการศึกษา กรมการฝึกหัดครู เพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนสาธิตได้ชื่อว่าโรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙
เพื่อให้การดำเนินงานได้ผลดีอย่างยิ่ง ทางสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา, รองอธิการบดี, ครูใหญ่ และอาจารย์ของวิทยาลัย ทำการสำรวจเพื่อจัดวางนโยบายและวางหลักปฏิบัติของโรงเรียนขั้นต่อไป
นโยบายเดิมของโรงเรียนนี้คือ จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา อันเป็นการศึกษาภาคบังคับ ให้แก่นักเรียนในตำบลแสนสุข ตำบลบางพระ และตำบลอื่น ๆ ที่รถรับส่งของโรงเรียนจะผ่านถึงได้จนถึงตัวเมืองของจังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ยังได้จัดการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาสามัญตอนต้นใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาสามัญของกรมสามัญศึกษา ซึ่งจัดให้มีการฝึกหัดทางด้านหัตถศึกษาครึ่งหนึ่งของเวลาเรียนใน ๑ สัปดาห์ หลังจากการสำรวจของคณะกรรมการชุดแรกเสร็จสิ้นลงนโยบายและการปฏิบัติงานของโรงเรียนนี้ก็ถูกดัดแปลงให้เหมาะสมกับที่เป็นโรงเรียนสาธิตยิ่งขึ้น
รายชื่อผู้บริหารโรงเรียนในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ คือ
ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์
อาจารย์บุญเลิศ ศรีหงส์
รองศาสตราจารย์อนนต์ อนันตรังสี
รองศาสตราจารย์ ดร.ประเทิน มหาขันธ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธรรม ศุกระกาญจน์
-
โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๓๓
พ.ศ. ๒๕๑๗ วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” สังกัดภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มีนโยบายในการดำเนินงานโรงเรียนสาธิต เป็นห้องปฏิบัติการของคณะศึกษาศาสตร์ สำหรับนิสิตไปฝึกปฏิบัติงานด้านประสบการณ์ อาชีพ และการปฏิบัติงาน
ได้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครอง ครู และศิษย์เก่าขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนและในปีเดียวกัน สมาคมฯ ได้จัดสร้างอาคารเรียนขนาด ๕๔ x ๙.๒๐ เมตร เป็นอาคารชั้นเดียว ชื่ออาคาร “พิบูลรำลึก”
(ซึ่งต่อมาได้ต่อเติมเป็นอาคาร ๒ ชั้น)
รายชื่อผู้บริหารโรงเรียนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ คือ
รองศาสตราจารย์สายันห์ มาลยาภรณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพัฒนา โหระกุล
รองศาสตราจารย์เชาวน์ มณีวงษ์
-
โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. ๒๕๓๓ – ปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๕๓๓ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศชื่อมหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” ได้รับการจัดให้เป็นหน่วยงานที่เทียบเท่าภาควิชา ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพาโดยสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ นี้ สมาคมผู้ปกครอง ครูและศิษย์เก่า ได้จัดสร้างต่อเติมอาคารเรียน พิบูลรำลึก ขึ้นอีก ๑ ชั้น และได้มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างหอพระประจำโรงเรียน และอาคารแสนเจริญมอบให้แก่โรงเรียน
พ.ศ. ๒๕๔๔ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ลิลา ผู้อำนวยการ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งฝ่ายการศึกษานานาชาติขั้นพื้นฐานและฝ่ายปฐมวัย เพื่อเปิดรับนักเรียนระดับการศึกษาปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทย และได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานนอกระบบแบบพึ่งพาตนเอง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ทดลองจัดโครงการจูเนียร์อินเตอร์เนชั่นแนล ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ และได้ขยายจนครบ ๖ ชั้นในปีการศึกษา ๒๕๔๗ ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น โปรแกรมเน้นความสามารถทางภาษา ระดับประถมศึกษา
วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพาเข้าสู่การบริหารนอกระบบราชการ เป็นส่วนราชการ ดำเนินงานอยู่ในแผนงานจัดการศึกษาอุดมศึกษา งานสนับสนุนการจัดการศึกษา มีการปรับปรุง และต่อเติมอาคารอีกหลายหลัง และในปีนี้ได้ดำเนินการแยกสมาคมออกเป็น ๒ สมาคม คือ สมาคมผู้ปกครองและครู และสมาคมศิษย์เก่า
พ.ศ. ๒๕๕๑ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉลอง ทับศรี ผู้อำนวยการ ในขณะนั้น เปิดหลักสูตร ที่เน้นภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ โดยได้เริ่มเปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๒ โดยใช้ชื่อว่า โปรแกรมเน้นความสามารถทางภาษา ระดับมัธยมศึกษา และโปรแกรมเน้นความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา
พ.ศ. ๒๕๕๖ อาจารย์ ดร.ผลาดร สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการ ในขณะนั้น เปิดหลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) มีนักเรียนศึกษาหลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ – ๖
รายชื่อผู้บริหารงานตำแหน่งผู้อำนวยการ คือ
- ว่าที่ร้อยตรี สุเทพ เมืองคล้าย
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพิศ อุดมศิลป์
- อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ลิลา
- รองศาสตราจารย์ ดร.ฉลอง ทับศรี
- อาจารย์ ดร.ผลาดร สุวรรณโพธิ์
- อาจารย์ ดร.วิโรฒน์ ชมภู
- อาจารย์ ดร.อาพันธ์ชนิต เจนจิต (ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตฤณ กิตติการอำพล (ปัจจุบัน)